สำหรับผู้ที่ทำการขายฝาก เมื่อครบกำหนดในสัญญาหรือมีเงินเพียงพอแล้วต้องการไถ่ถอนที่ดินคืนจากการขายฝาก ก็มีรายละเอียดและวิธีดำเนินการเพื่อไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝาก ดังนี้
การไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝาก
ผู้รับซื้อฝากต้องทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ขายฝากก่อนครบกำหนดระยะเวลาไถ่คืน ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนแต่ไม่เกิน 6 เดือน เพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการไถ่คืนที่ดิน ได้แก่จำนวนเงิน สถานที่ และผู้รับไถ่คืน พร้อมแนบสำเนาสัญญาการขายฝาก ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากตามที่อยู่ในสัญญา หากผู้ซื้อฝากไม่ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ขายฝากตามกำหนด ให้ขยายระยะเวลาในการไถ่ถอนทรัพย์สินคืนเพิ่มไปอีก 6 เดือนโดยอัตโนมัติ นับจากวันที่ครบกำหนดไถ่ถอนที่ระบุเอาไว้ในสัญญาขายฝาก
ในกรณีที่ผู้ซื้อฝากไม่สามารถไถ่ถอนที่ดินคืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา สามารถทำข้อตกลงกับผู้ซื้อฝากเพื่อขยายระยะเวลาไถ่ถอนได้ โดยต้องไปทำการขอจดทะเบียนเพื่อขยายเวลาไถ่ถอนขายฝากที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน โดยสามารถขยายระยะเวลาไถ่ถอนได้สูงสุดรวมแล้วต้องไม่เกิน 10 ปี
หากครบกำหนดแล้วผู้ขายฝากไม่สามารถติดต่อผู้ซื้อฝากเพื่อดำเนินการไถ่ถอนที่ดินคืนได้ สามารถนำเงินต้นและดอกเบี้ยไปวางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์ สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินซึ่งได้ทำการจดทะเบียนขายฝากทรัพย์สินได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันครบกำหนดไถ่คืนหรือนับแต่วันที่เหตุอันทำให้ไม่อาจใช้สิทธิ์ไถ่ดังกล่าวได้สิ้นสุดลง แล้วแต่กรณี
วิธีไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝาก
สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้แก่ผู้ขายฝากและผู้ซื้อฝาก ไปยื่นขอจดทะเบียนไถ่ถอนจากการขายฝากต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินพร้อมกัน
ผู้ขายฝากสามารถนำหลักฐานที่เป็นหนังสือจากผู้รับซื้อฝากว่าได้มีการชำระสินไถ่ หรือใช้เป็นหนังสือสัญญาขายฝากฉบับที่ผู้รับซื้อฝากสลักหลังการรับชำระสินไถ่เอาไว้ และยินยอมให้ไถ่ถอนจากการขายฝากได้ ไปยื่นขอจดทะเบียนไทยถอนขายฝากต่อเจ้าพนักงานกรมที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน
โดยในการจดทะเบียนเพื่อไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝาก จะมีค่าธรรมเนียมแปลงละ 50 บาท ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าอากรแสตมป์คิดเป็น 0.50% ของราคาประเมินหรือยอดสินไถ่
เอกสารที่ต้องใช้ในการไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝาก
หลักฐานที่เป็นหนังสือแสดงว่าพูดซื้อฝากได้รับชำระสินไถ่แล้ว หรือหนังสือสัญญาขายฝากฉบับที่ผู้รับซื้อฝากสลักหลังการรับชำระสินไถ่เอาไว้ และทำการยินยอมให้สามารถไถ่ถอนจากการขายฝากได้
โฉนดที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
เอกสารคู่สัญญาขายฝากที่ทำขึ้นระหว่างผู้ขายฝากและผู้ซื้อฝาก
บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ของทั้งผู้ขายฝากและผู้ซื้อฝาก
เงินต้นและค่าสินไถ่ ให้ใช้เป็นเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คเท่านั้น เพื่อนำไปชำระต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน
ในกรณีที่ไม่ได้เดินทางมาด้วยตนเอง ให้ใช้หนังสือมอบอำนาจ ท.ด.๒๑ มากับตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย
กรณีมีคู่สมรส ต้องแนบหนังสือยินยอมคู่สมรส และเอกสารคู่สมรสแนบท้ายมาด้วย
ดังนั้นเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาการขายฝากที่ดิน ผู้ซื้อฝากจะมีหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการไถ่ถอนที่ดินส่งมาให้ ถ้าหากเรามีเงินเพียงพอสำหรับการไถ่ถอนที่ดินคืนก็สามารถดำเนินการเพื่อไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝากได้ตามขั้นตอนตามปกติ หรือถ้าหากไม่สามารถหาเงินมาไถ่ที่ดินคืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถทำข้อตกลงกับผู้ซื้อฝากเพื่อขยายระยะเวลาในการไถ่ถอน และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่พนักงานกรมที่ดิน แต่ถ้าหากมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถติดต่อผู้ซื้อฝากได้ก็สามารถไปดำเนินการที่กรมที่ดินเพื่อไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝากได้
Comments